ซูโดอีเฟดรีน
ซูโดอีเฟดรีน / ซูโดเอฟีดรีน / สูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า แม็กซิเฟด (Maxiphed), แอ็คติเฟด/แอคติเฟด (Actifed), นาโซลิน (Nasolin), นาซิเฟด (Nasifed), ซูลิดีน(Sulidine) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูกน้ำมูกไหลจากโรคหวัด ไซนัสอักเสบ และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอื่น ๆ โดยมีทั้งชนิดที่เป็นยาเดี่ยวและชนิดที่ผสมกับยาอื่น เช่น ยาแก้แพ้ ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด เป็นต้น โดยเฉพาะสูตรที่ผสมระหว่างซูโดอีเฟดรีนกับยาแก้แพ้ไตรโพรลิดีน (Triprolidine) เหตุที่ผสมซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยาแก้แพ้ เพราะว่ายาแก้แพ้มีฤทธิ์เพียงลดน้ำมูก แต่มีฤทธิ์แก้อาการคัดจมูกน้อยมาก จึงต้องผสมซูโดอีเฟดรีนลงไปด้วยเพื่อให้ยามีฤทธิ์แก้คัดจมูกด้วย[7]
ยาซูโดอีเฟดรีนจะถูกดูดซึมได้เร็ว โดยยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 15-30 นาที ความเข้มข้นของยาในพลาสมาจะสูงสุดหลังการรับประทานยาประมาณ 30-60 นาที และจะมีระยะเวลาการออกฤทธิ์ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ยาบางส่วนจะถูกแปลงสภาพที่ตับได้ Norpseudoephedrine ซึ่งยังคงมีฤทธิ์อยู่ ยาจะถูกขับออกทางปัสสาวะในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลงประมาณ 70-90% และในรูปของ Norpseudoephedrine ประมาณ 1-6% (ยาจะขับออกได้ช้าลง ในกรณีที่ปัสสาวะเป็นด่าง)[11]
ด้วยยาซูโดอีเฟดรีนสามารถนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าได้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จำกัดให้ยาซูโดอีเฟดรีนมีใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น และสถานพยาบาลจะต้องส่งรายงานการซื้อและจ่ายยาให้คนไข้กับกระทรวงสาธารณสุขทุกปี ดังนั้นตามร้านขายยาแผนปัจจุบันจึงไม่มียาสูตรตำรับที่มีซูโดอีเฟดรีนวางจำหน่ายในร้านยาอีกต่อไป
รูปแบบและตัวอย่างยาซูโดอีเฟดรีน
- ยาเดี่ยวชนิดเม็ด ขนาด 30 หรือ 60 มิลลิกรัม และขนาด 120 หรือ 240 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นชนิดออกฤทธิ์นาน[2] มีตัวอย่างชื่อทางการค้า เช่น แม็กซิเฟด (Maxiphed), ซูโดอีฟีดรีน เอเซียน ฟาร์ม (Pseudoephedrine Asian Pharm), ซูโดอีฟีดรีน บีเจ เบญจโอสถ (Pseudoephedrine BJ Benjaosoth), ซูโดอีฟีดรีน เมดดิซิน โพรดักซ์ (Pseudoephedrine Medicine Products), ซูโดอีฟีดรีน มิลาโน (Pseudoephedrine Milano), ซูโดอีเฟดรีน 60 มิลลิกรัม (Pseudoephedrine 60 mg), ซูโดอีเฟดรีน ไฮโดรคลอไรด์ 60 มิลลิกรัม แท็บเล็ต (Pseudoephedrine hcl 60 mg. tablet), สูโดโน่-30 (Pseudono-30), สูโดโน่-60 (Pseudono-60), ซูดาเฟด (Sudafed), ซูโดเซียน (Sudosain) เป็นต้น
- ยาเดี่ยวชนิดน้ำเชื่อม ขนาด 30 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) มีตัวอย่างชื่อทางการค้า เช่น ซูโดอีฟีดรีน เอเซียน ฟาร์ม (Pseudoephedrine Asian Pharm) เป็นต้น
- ยาผสมชนิดเม็ด เช่น ยาสูตรผสมระหว่างซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) 60 มิลลิกรัม และยาแก้แพ้ไตรโพรลิดีน (Triprolidine) 2.5 มิลลิกรัม ต่อ 1 เม็ด มีตัวอย่างชื่อทางการค้า เช่น เอ-เฟด (A-fed), แอคติล (Actil), แอคติเพล็กซ์ (Actiplex), แอคมีดีน (Acmedine), แอ็คติเฟด/แอคติเฟด (Actifed), เอดัลเฟด แท็บเล็ต (Adulfed tablets), โคเฟด (Cofed), โคลิดิน แท็บเล็ต (Colidin tablet), คอนซูดีน (Consudine), ดีคอลเฟด (Decolfed), ฟาเฟด (Fafed), ฮิสซิเฟด แท็บเล็ต (Hiscifed tablets), เค.บี. โพเฟดิน (K.B. Pophedin), เมดิเฟด (Medifed), เมโดเฟด (Medofed), นาซิเฟด (Nasifed), นาโซลิน (Nasolin), นอสไตรเลท (Nostrilet), โพลีเฟด แท็บเล็ต (Polyfed tablets), พอนด์แอคติล (Pondactil), โปรเฟด (Prophed), โปรเฟดิน (Prophedin), ไรโนเฟด (Rhinofed), โซโลเดน (Solodane), โซโลเฟด (Solophed), ซูลิดีน (Sulidine), ซูเฟด (Sufed), ทิโป แท็บเล็ต (Tipo tablet), ไตรโอเฟด (Triofed), ไตรพอเจน (Tripogen), ไตรเฟด (Trifed), ไตรโพรดรีน (Triprodrine), ไตรซูดีน แท็บเล็ต (Trisudine tablets), ไตรโซดีน แท็บเล็ต (Trisodine tablets), ยูติเฟด (Utifed), เวสโปรลิด ไฮโดรคลอไรด์ (Vesprolid hcl), วีเฟด (Vefed) เป็นต้น
- ยาผสมชนิดน้ำเชื่อม เช่น ยาสูตรผสมระหว่างซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) 30 มิลลิกรัม และยาแก้แพ้ไตรโพรลิดีน (Triprolidine) 1.25 มิลลิกรัม ต่อ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) มีตัวอย่างชื่อทางการค้า เช่น แอ็คติเฟด ไซรัป (Actifed syrup), แอคติล (Actil), แอคติเพล็กซ์ ไซรัป (Actiplex syrup), โคลดิเฟด ไซรัป (Coldifed syrup), โคลิดีน ไซรัป (Colidine syrup), คอนเฟด ไซรัป (Confed syrup), คอนซูดีน ไซรัป (Consudine syrup), ดีคอลเฟด ไซรัป (Decolfed syrup), ฟาเฟด ไซรัป (Fafed syrup), ฮิสซิเฟด (Hiscifed), เมดิเฟด ไซรัป (Medifed syrup), มิลาเฟด ไซรัป (Milafed syrup), นาซิเฟด ไซรัป (Nasifed syrup), นาโซลิน ไซรัป (Nasolin syrup), นอสไตรเลท ไซรัป (Nostrilet syrup), พาซิเฟด ไซรัป (Pacifed syrup), พอลีคอล (Policol syrup), โปรเฟด ไซรัป (Profed syrup), โปรเฟดิน (Prophedin), ไรโนเฟด ไซรัป (Rhinofed syrup), ไซนูเสด ไซรัป (Sinusaid syrup), ซูลิดีน ไซรัป (Sulidine syrup), ซูเฟด ไซรัป (Sufed syrup), ซูฟีดรีน ไซรัป (Suphedrine syrup), ไตรเฟด ไซรัป (Trifed syrup), ไตรโอเฟด ไซรัป (Triofed syrup), ไตรโซดีน ไซรัป (Trisodine syrup), ไตรซูดีน ไซรัป (Trisudine syrup) เป็นต้น
สรรพคุณของยาซูโดอีเฟดรีน
- ยาเดี่ยวซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)
- ช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูกหรือไซนัสที่มีสาเหตุมาจากอาการหวัด อาการหวัดที่มีน้ำมูกมาก ไซนัสอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ ไข้ละอองฟาง และโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจอื่น ๆ[3],[4]
- ช่วยแก้อาการหูอื้อและบรรเทาอาการปวดหูที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศในระหว่างการเดินทางทางอากาศหรือการดำน้ำ[4],[8],[12]
- ช่วยบรรเทาอาการหูอื้อหรือมีเสียงดังในหู เนื่องจากท่อ Eustatian ตีบตันในโรคภูมิแพ้[1]
- ใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นในการรักษาหูชั้นกลางอักเสบ โดยยาซูโดอีเฟดรีนจะมีผลลดการบวมรอบ Eustatian ostia ทำให้ท่อ Eustatian ไม่ตัน ซึ่งจะช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนของหูชั้นกลางได้[8]
- ยาผสมระหว่างยาแก้คัดจมูกซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) กับยาแก้แพ้ไตรโพรลิดีน (Triprolidine)
- ช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล (ลดน้ำมูก) น้ำตาไหล คันจมูกและลำคอ ไอ จาม ผื่นคัน ผื่นลมพิษ และอาการอื่นที่เกิดขึ้นจากการแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้/โรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) หรือไข้ละอองฟาง (Hay fever) และรักษาโรคหวัด (Cold symptoms)[5],[9],[10]
- ยาซูโดอีเฟดรีนทั้งยาเดี่ยวและยาผสมอาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4],[5]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซูโดอีเฟดรีน
ซูโดอีเฟดรีนจะมีกลไกการออกฤทธิ์กระตุ้นโดยตรงที่ Alpha-adrenergic receptors บนกล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุจมูก ส่งผลให้หลอดเลือดแดงและดำเกิดการหดตัว ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณที่บวมของเยื่อบุจมูกจึงลดลง ทำให้ลดอาการบวมของเยื่อบุจมูก จึงช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้การขับสารคัดหลั่งสะดวกขึ้นและทางเดินหายใจโล่งขึ้น และยังนำไปใช้แก้อาการหูอื้อและบรรเทาอาการปวดหูที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงความดันอากาศได้ด้วย เช่น ในขณะเครื่องบินกำลังลดระดับเพดานบิน[8],[12] (เมื่อเป็นหวัดหรือมีอาการแพ้ หลอดเลือดบริเวณดังกล่าวจะขยายตัวขึ้นแล้วทำให้เกิดอาการคัดจมูก แน่นในหู หูอื้อ หรือเคืองตา จากการที่ซูโดอีเฟดรีนมีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหดตัว จึงทำให้มีผลในการรักษาอาการตามสรรพคุณได้[7])
นอกจากนี้ตัวยายังสามารถเข้าถึงทุกส่วนของช่องจมูกตลอดจนท่อติดต่อระหว่างจมูกและหูชั้นกลาง (Eustatian tube) และโพรงอากาศต่าง ๆ ได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการระบายสิ่งคัดหลั่งในโพรงอากาศและอาจช่วยให้ลดการอุดตันที่ Eustatian ostia[11] จึงมีการนำยานี้ไปใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นในการรักษาหูชั้นกลางอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดร่วมกับการติดเชื้อในบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้น (เช่น ไข้หวัด ต่อมทอนซิลอักเสบ ทำให้เชื้อในบริเวณคอผ่านท่อ Eustatian เข้าไปในหูชั้นกลางและท่อ Eustatian บวม และมีหนองขังอยู่ในหูชั้นกลาง เพราะไม่สามารถระบายผ่านท่อ Eustatian ที่บวมและอุดตันได้) และการรักษาจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ และยาแก้คัดจมูก โดยยาแก้คัดจมูกอย่างซูโดอีเฟดรีนนี้จะมีผลลดการบวมรอบ Eustatian ostia ทำให้ท่อ Eustatian ไม่ตัน จึงช่วยลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนของหูชั้นกลางได้[8],[12] อย่างไรก็ตาม การใช้ซูโดอีเฟดรีนเพื่อบรรเทาอาการหูอื้อยังได้ผลไม่ชัดเจนนัก และสาเหตุที่ทำให้หูอื้อ นอกจากหูชั้นกลางอักเสบแล้วก็ยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น หูชั้นนอกอักเสบ ขี้หูอุดตัน และสิ่งแปลกปลอมเข้าหู ซึ่งการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น เช่น ในกรณีของขี้หูอุดตันจะหยอดหูด้วยยากลีเซอรีนบอแรกซ์ (Glycerine borax) เป็นต้น[12]
ส่วนกลไกการออกฤทธิ์ของไตรโพรลิดีน (ในยาสูตรผสม) คือ ตัวยาจะเข้าไปจับกับตัวรับ (Receptor) ในร่างกายที่มีชื่อว่า H1-receptor (Histamine receptor) จึงส่งผลให้สารฮิสตามีนในร่างกายที่คอยกระตุ้นอาการแพ้ต่าง ๆ ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ด้วยฤทธิ์ของยาไตรโพรลิดีนเพียงระยะชั่วคราวนี้จึงสามารถช่วยลดน้ำมูก และลดอาการแพ้ต่าง ๆ ได้ แต่มีผลข้างเคียงคือทำให้ง่วงนอน[10],[12]
ก่อนใช้ยาซูโดอีเฟดรีน
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซูโดอีเฟดรีน สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยากลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug) เช่น เอฟีดรีน (Ephedrine), ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), ซาลบูทามอล (Salbutamol), เทอร์บูทาลีน (Terbutaline) เป็นต้น หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- ยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาซูโดอีเฟดรีนอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่เดิมรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับขนาดยา หรือเพิ่มความระมัดระวังในการให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างเหมาะสมมากขึ้น) เช่น
- การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ยาซูโดอีเฟดรีนจะเสริมฤทธิ์กระตุ้นประสาททำให้เกิดภาวะวิตกกังวล นอนไม่หลับ ชัก และหัวใจเต้นผิดจังหวะ[11]
- การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยาลดความดันโลหิตบางกลุ่ม เช่น แอลพรีโนลอล (Alprenolol) จะทำให้ผลของยาลดความดันโลหิตด้อยประสิทธิภาพลง[3] และจำเป็นต้องปรับขนาดของยาลดความดันโลหิตให้เหมาะสม[11]
- การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยากลุ่ม beta-adrenergic blocking agents อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดความดันเลือดสูง หัวใจเต้นช้า และอาจเกิดภาวะหัวใจขัด (Heart block)[11]
- การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยากลุ่ม Digitalis glycosides จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Cardiac arrhythmia) หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันจะต้องคอยเฝ้าระวังและติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจอย่างใกล้ชิด[11]
การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยาเลโวโดปา (Levodopa) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Cardiac arrhythmia) จึงควรปรับลดขนาดยาซูโดอีเฟดรีนลง[11] - การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยารักษาโรคลมชักบางตัว เช่น อะเซตาโซลาไมด์ (Acetazolamide) จะทำให้เพิ่มความเป็นพิษของยาซูโดอีเฟดรีน[3]
- การใช้ยาซูโดอีเฟดรีนร่วมกับยากลุ่มไทรอยด์ฮอร์โมน (Thyroid hormones) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดเลี้ยงหัวใจไม่พอ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary artery disease) ควรปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสม[11]
- การใช้ยาผสม (Pseudoephedrine + Triprolidine) ร่วมกับยาโพแทสเซียมคลอไรด์ (Potassium chloride) ชนิดรับประทาน จะกระตุ้นให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหารจนถึงขั้นมีแผลเกิดขึ้นได้, ยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium oxybate) จะส่งผลให้อาการข้างเคียงต่าง ๆ ของยาไตรโพรลิดีนเพิ่มขึ้น เช่น วิงเวียนและง่วงนอนมาก สับสน ซึมเศร้า อาจมีความดันโลหิตต่ำในบางราย และอาจพบอาการถึงขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้ในที่สุด, ยาโพรพอกซิฟีน (Propoxyphene) จะทำให้อาการข้างเคียงของยาไตรโพรลิดีนเพิ่มขึ้น เช่น มีอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน และอาจส่งผลกระทบต่อจิตประสาท เพราะฉะนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน[10]
- การมีหรือเคยมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหลอดเลือด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคต้อหิน โรคตับ โรคไต โรคต่อมลูกหมากโต อาการปัสสาวะลำบาก โรคลมชัก ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ คอพอกเป็นพิษ[4],[6]
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ที่แพ้ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine), หญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก (เพราะอาจทำให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น ใบหน้าด้านหนึ่งด้านใดเล็กกว่าปกติ (Hemifacial microsomia), หน้าท้องของทารกไม่ปิดแต่กำเนิด (Gastroschisis), ลำไส้เล็กตีบตัน), หญิงให้นมบุตร และทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน[11]
- ห้ามใช้ยาซูโดอีเฟดรีนกับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงรุนแรง (เพราะยานี้จะทำให้ความดันโลหิตสูงรุนแรงมากยิ่งขึ้น) โรคหัวใจขาดเลือด โรคต้อหิน และผู้ที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน[1]
- ห้ามรับประทานยานี้หากภายในเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับประทานยาแก้ซึมเศร้าในกลุ่ม monoamine oxidase (MAO) inhibitors เช่น ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid), ฟีเนลซีน (Phenelzine), เซเลกิลีน (Selegiline) และทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine) เป็นต้น เพราะอาจทำให้ความดันโลหิตสูงรุนแรงได้[1],[4],[5],[6]
- ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้และห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว[3]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยากลุ่มซิมพาโทมิเมติค (Sympathomimetic drug), ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคตับ โรคไต, โรคต้อหินบางชนิด, ความดันในลูกตาสูง, โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคความดันโลหิตสูง, โรคต่อมลูกหมากโต, ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน, ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ, ผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิด Pheochromocytoma (เพราะอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจบีบตัวเร็วและส่งเสริมการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้)[3],[8],[11]
- ยาซูโดอีเฟดรีนบางชนิดอาจมีน้ำตาลและแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เช่น ยาน้ำเชื่อม จึงควรใช้ยาด้วยความระมัดระวังในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือโรคตับ[6]
- ไม่ควรใช้ยาซูโดอีเฟดรีนในเด็กอายุต่ำกว่า 2-4 ปี (แล้วแต่แหล่งอ้างอิง) เพราะอาจมีผลข้างเคียงได้ ยกเว้นอยู่ในความดูแลของแพทย์ และควรใช้ยาอย่างระมัดระวังในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี[4],[6]
- ไม่ควรใช้ยานี้รักษาไข้หวัดในเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี[6]
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปี (อาจตอบสนองต่อยานี้ได้มากกว่าปกติ) และผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของไตบกพร่อง อาจจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาที่รับประทานลง[4],[11]
- สำหรับยาผสมไตรโพรลิดีน (Triprolidine) ห้ามใช้ยาสูตรผสมนี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ยาไตรโพรลิดีน, หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร, ผู้ที่เป็นโรคต้อหิน, ผู้ที่มีประวัติโรคหืด, ผู้ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ, ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง, ผู้ที่เป็นโรคแผลเพ็ปติก (แผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น), ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ, ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต, ผู้ที่มีปัสสาวะขัด นอกจากนี้ยังห้ามรับประทานยาร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (เพราะจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน ครองสติได้ยาก) และห้ามปรับขนาดการรับประทานยาด้วยตนเอง รวมถึงต้องระวังการใช้ยาสูตรผสมนี้ในเด็กและผู้สูงอายุด้วย[10]
วิธีใช้ยาซูโดอีเฟดรีน
- การใช้ยาเดี่ยว (Pseudoephedrine) สำหรับใช้รักษาอาการคัดจมูก (Nasal congestion)[2]
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 30-60 มิลลิกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ ส่วนยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน 12 ชั่วโมง ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (120 มิลลิกรัม) ทุก 12 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ และยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด (240 มิลลิกรัม) ทุก 24 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ โดยทั้งหมดนี้ให้รับประทานได้สูงสุดไม่เกินวันละ 240 มิลลิกรัม[2],[11]
- เด็กอายุ 6-11 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 30 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 120 มิลลิกรัม)[2],[11]
- เด็กอายุ 4-5 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 15 มิลลิกรัม (½ ช้อนชา) ทุก 4-6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ (สูงสุดไม่เกินวันละ 60 มิลลิกรัม)[2]
- การใช้ยาผสม (ยา 1 เม็ด ประกอบด้วย Pseudoephedrine 60 mg. + Triprolidine 2.5 mg. ส่วนยาน้ำเชื่อม 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) จะประกอบไปด้วย Pseudoephedrine 30 mg. + Triprolidine 1.25 mg.) สำหรับรักษาอาการของโรคจมูกจากภูมิแพ้/โรคแพ้อากาศ (Allergic rhinitis) และโรคหวัด (Cold symptoms)[9]
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 13 ปีขึ้นไป ให้รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นยาน้ำเชื่อม ให้รับประทานยาครั้งละ 2 ช้อนชา (10 มิลลิลิตร) ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยทั้งยาเม็ดและยาน้ำเชื่อมต้องรับประทานยาไม่เกินวันละ 4 ครั้ง[9]
- เด็กอายุ 6-12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ ½ เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นยาน้ำเชื่อม ให้รับประทานยาครั้งละ 1 ช้อนชา (5 มิลลิลิตร) ทุก 4-6 ชั่วโมง โดยทั้งยาเม็ดและยาน้ำเชื่อมต้องรับประทานยาไม่เกินวันละ 4 ครั้ง[9]
คำแนะนำในการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน
- ยานี้สามารถรับประทานก่อนอาหารหรือหลังอาหารก็ได้[3] แล้วให้ดื่มน้ำ 1 แก้วหลังจากรับประทานยา (ห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา ส่วนยาน้ำเชื่อมจะต้องเขย่าขวดก่อนรินยาและตวงยาให้ถูกต้อง) หากรับประทานยาไปแล้วเกิดอาการแน่นท้องให้เปลี่ยนมารับประทานยาพร้อมอาหาร[6]
- เพื่อป้องกันปัญหาการนอนไม่หลับที่อาจเกิดขึ้นจากผลข้างเคียงของยา ควรรับประทานยามื้อสุดท้ายของวันก่อนเวลาเข้านอนหลาย ๆ ชั่วโมง[4]
- ขนาดของยาที่รับประทานในผู้ใหญ่และเด็กจะมีขนาดแตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยานี้จากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น และให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด โดยห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยให้สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
- หากกำลังเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาซูโดอีเฟดรีนอยู่
- หากอาการยังไม่ดีขึ้นใน 7 วัน หรือมีอาการไข้สูง ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์[4]
- หากเกิดอาการตื่นกลัว เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ให้หยุดยาและไปพบแพทย์[11]
- สำหรับยาผสมไตรโพรลิดีน (Triprolidine) อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึมได้ จึงควรระมัดระวังในการขับขี่ยานพาหนะหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร[5]
การเก็บรักษายาซูโดอีเฟดรีน
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- สำหรับยาเม็ดรับประทานควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง โดยไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง หรือบริเวณที่ถูกแสงแดดโดยตรง และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ
- สำหรับยาน้ำ หลังจากเปิดขวดใช้แล้ว เมื่อยายังไม่มีการเปลี่ยนสีหรือกลิ่นหรือมีสิ่งผิดปกติอื่น ๆ สามารถใช้ยาต่อไปได้ไม่เกิน 3 เดือน
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
เมื่อลืมรับประทานยาซูโดอีเฟดรีน
โดยทั่วไปยาซูโดอีเฟดรีนจะใช้เฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น การลืมรับประทานยาจึงไม่เป็นอันตราย แต่หากต้องรับประทานยาตามกำหนดเวลาและลืมรับประทานยา ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือมากกว่าปกติ[5]
ผลข้างเคียงของยาซูโดอีเฟดรีน
- สามารถกระตุ้นให้มีอาการเจ็บหน้าอก อาจเกิดผลย้อนกลับทำให้มีน้ำมูกมากขึ้นเมื่อหยุดยา เกิดอาการหนาวสะท้าน สับสน วิตกกังวล สูญเสียการรับรู้ด้านทิศทาง ประสาทหลอน นอนไม่หลับ ตื่นกลัว ประสาทอักเสบ กระสับกระส่าย เหงื่อออกมาก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการบ้านหมุน มีเสียงในหู มองเห็นไม่ชัด เห็นภาพซ้อน เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง จมูกแห้ง คัดจมูก เกิดการสะสมของสิ่งคัดหลั่งที่หลอดลม หายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจถี่ผิดปกติ อาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว ถุงลมโป่งพอง ความดันโลหิตสูงชั่วคราว สามารถพบเลือดออกในกะโหลกศีรษะได้ ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะคั่ง ปัสสาวะยาก หรือเจ็บในขณะปัสสาวะ ถ่ายเป็นเลือดหรือปวดท้อง ชาปลายมือปลายเท้า ตัวสั่น มือสั่น อ่อนแรง ผิวหนังไวต่อแสง มีผื่นคัน ลมพิษ[3],[4],[11]
- ซูโดอีเฟดรีนจัดเป็นยาที่สามารถกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว ทำให้ไม่ง่วงนอน มีอาการฟุ้งพล่าน ควบคุมสติไม่ได้ จึงมีผู้นำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปใช้เป็นส่วนผสมของยากระตุ้นในนักกีฬา ใช้เป็นยาขยัน และเป็นยาบ้า[3]
- อาการของการได้รับยาซูโดอีเฟดรีนเกินขนาด คือ หายใจเร็ว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ หัวใจเต้นเร็วหรือช้า หายใจลำบาก ตื่นกลัว กระสับกระส่าย ประสาทหลอน ชัก[11]
- สำหรับยาผสมไตรโพรลิดีน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ เกิดภาวะง่วงนอน ปากแห้ง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ กระสับกระส่าย ตาพร่า แสบร้อนกลางอก ท้องผูก ไม่สบายท้อง ปัสสาวะมาก ปัสสาวะขัด ฯลฯ ส่วนการได้รับยาเกินขนาด อาจทำให้เกิดภาวะประสาทหลอน ชัก โคม่าจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งเมื่อมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที[5],[10]
สาเหตุที่มีการนำซูโดอีเฟดรีนไปผลิตเป็นยาบ้า
ด้วยสูตรโครงสร้างทางเคมีของซูโดอีเฟดรีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับเมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งเป็นสารสำคัญในยาบ้า โดยจะมีสูตรโครงสร้างที่แตกต่างจากเมทแอมเฟตามีนเพียงตำแหน่งเดียว คือ หมู่ hydroxyl (-OH) ดังนั้นเมื่อนำซูโดอีเฟดรีนที่อยู่ในเภสัชภัณฑ์ทั้งยาเม็ดและยาน้ำไปสกัดและทำปฏิกิริยาทางเคมีที่กำจัดเอาหมู่ของ hydroxyl ออก ก็จะทำให้ได้เมทแอมเฟตามีน ด้วยเหตุนี้จึงมีการลักลอบนำยานี้ไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้า จึงทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับความเข้มงวดในการควบคุมการใช้ยานี้มาโดยลำดับ และในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2555 ได้มีประกาศให้ตำรับยาทุกตำรับที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งจะมีใช้ได้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถหาซื้อยานี้ได้ตามร้านขายยาแผนปัจจุบันอีกต่อไป[7]
ผู้ที่ครอบครองซูโดอีเฟดรีนโดยไม่ได้รับอนุญาต (การครอบครองโดยที่ไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าเป็นการครอบครองยาดังกล่าวตามคำสั่งแพทย์) จะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฐานความผิดครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมีบทกำหนดโทษ ดังนี้
- กรณีครอบครองซูโดอีเฟดรีน (คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้ว) ไม่เกิน 5 กรัม หรือ ไม่เกิน 101 เม็ด (โดยประมาณ สำหรับยาสูตรผสมขนาดเม็ดละ 60 มิลลิกรัม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท[8]
- กรณีครอบครองซูโดอีเฟดรีน (คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์แล้ว) เกิน 5 กรัม หรือ เกิน 101 เม็ด (โดยประมาณ สำหรับยาสูตรผสมขนาดเม็ดละ 60 มิลลิกรัม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท[8]
- ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออก ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท[8]
สำหรับประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องใช้ยาที่มีซูโดอีเฟดรีนเป็นส่วนผสม จะต้องได้รับการสั่งใช้โดยแพทย์โดยมีเอกสารหลักฐานยืนยัน เช่น ใบรับรองแพทย์ ใบสั่งยา หรือเอกสารกำกับบนซองยาที่แสดงชื่อและที่อยู่ของสถานพยาบาลที่สั่งจ่าย และชื่อของผู้ป่วย ซึ่งหากผู้ใดมีไว้ในครอบครองโดยไม่เป็นไปตามข้อกำหนดดังกล่าวจะถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนผู้ที่เป็นหวัดมีอาการคัดจมูกและเคยใช้ยาดังกล่าวได้ผลดีอาจได้รับผลกระทบจากการควบคุมดังกล่าว และมีความยากลำบากอยู่บ้างในการดูแลรักษาตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการดูแลรักษาตนเองในเบื้องต้นและไปรับบริการที่ร้านยา ยังมียาแก้คัดจมูกอื่น ๆ ที่เป็นทางเลือก เช่น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)[7]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “สูโดเอเฟดรีน (Pseudoephedrine)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 268.
- Drugs.com. “Pseudoephedrine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [13 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [13 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “PSEUDOEPHEDRINE HYDROCHLORIDE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [14 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “PSEUDOEPHEDRINE HYDROCHLORIDE, TRIPROLIDINE HYDROCHLORIDE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [14 พ.ย. 2016].
- Siamhealth. “ยาแก้คัดจมูก Pseudoephedrine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [14 พ.ย. 2016].
- ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย?”. (อ.ภก.พงศธร มีสวัสดิ์สม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [14 พ.ย. 2016].
- กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. “ซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : narcotic.fda.moph.go.th. [15 พ.ย. 2016].
- Drugs.com. “Pseudoephedrine / Triprolidine”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [15 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ไตรโพรลิดีน (Triprolidine)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [15 พ.ย. 2016].
- กองควบคุมวัตถุเสพติด, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. “เอกสารกำกับวัตถุออกฤทธิ์ Pseudoephedrine tablet, Oral solution”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : narcotic.fda.moph.go.th. [15 พ.ย. 2016].
- เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ. “maxiphed ช่วยลดอาการหูอื้อได้หรือ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th. [15 ต.ค. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น